อุทาหรณ์สอนคน การเอาผิดกับข้าราชการสายโกง

                ขึ้นชื่อว่าข้าราชการก็คือพนักงานผู้รับใช้ประชาชน ฉะนั้นการปฏิบัติงานในภารกิจต่าง ๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและโปร่งใส เพราะถือว่าข้าราชการคือบุคคลที่เป็นตัวแทนของราษฎร และได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่แทนประชาชน การปฏิบัติหน้าที่จึงควรใช้ความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง แต่ก็มีหลายครั้งที่ความไม่ซื่อสัตย์ของข้าราชการบางคนได้ปรากฏขึ้นจากข่าวให้ประชาชนได้รับรู้กันทั่วหน้า ในขณะเดียวกันก็ยังมีข้าราชการน้ำดี ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยและไม่ได้ประกาศให้โลกรับรู้เรื่องราวความดีของตน คล้ายกับผู้ปิดทองหลังพระ

“ฆ่าตัวตาย” จุดจบของข้าราชการสายโกง

                สืบเนื่องมาจากกรณีที่นักศึกษาฝึกงานได้ไปพบพิรุธ โดยเธอถูกบังคับให้ปลอมลายเซ็นของชาวบ้าน จากรายชื่อราษฎรผู้ลงทะเบียนรับเงินในฐานะผู้ยากไร้ เนื่องจากเธอกำลังศึกษาในสาขาสังคมสงเคราะห์ จึงทนไม่ได้กับพฤติกรรมขององค์กรนี้ การเข้าร้องเรียนต่อผู้อำนวยการสถาบันที่เธอกำลังศึกษาอยู่นั้นก็ไม่เป็นผล ซ้ำร้ายเธอยังถูกบังคับให้กราบขอขมาต่อบุคคลระดับสูงในองค์กรที่ถูกเธอกล่าวหาอีกด้วย แต่ความจริงก็คือความจริง เมื่อเรื่องราวถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์จนเกิดประเด็นเรื่องการทุจริตเงินของผู้ยากไร้ ตำรวจได้สืบสาวราวเรื่องจนพบว่ากระบวนการทุจริตครั้งนี้มีบุคคลระดับสูงเป็นหัวเรือใหญ่ พัวพันการคอร์รัปชั่น

จนกระทั่งตำรวจ สภ.เมืองปทุมธานี ได้รับแจ้งว่านายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กินยาฆ่าตัวตายพร้อมภรรยาที่หมู่บ้านชวนชื่นบุ๊คไซค์ ตำบลบางคูวัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี และเสียชีวิตภายในบ้านพัก ส่วนภรรยานั้นอยู่ในอาการสาหัส เจ้าหน้าที่จึงช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลปทุมธานี สืบเนื่องมาจากการถูกสั่งย้ายให้ไปช่วยราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี หลังถูกตรวจสอบว่ามีความผิดฐานมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริตเงินของผู้ยากไร้ และผู้ป่วยโรคเอดส์

เรียกว่าช็อคไปทั่วทั้งวงการข้าราชการ จากการกินยาฆ่าตัวตายของข้าราชการระดับสูงในครั้งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริตเงินคนจนและความพยายามในการฆ่าตัวตาย

จุดจบสายโกง

เรามักจะเห็นการรณรงค์มากมายจากภาครัฐในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่สิ่งที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง กลับเป็นบุคคลากรทางภาครัฐที่เป็นฝ่ายทุจริตเสียเอง ยิ่งไปกว่านั้นการสืบสาวราวเรื่องจากการทุจริตในองค์กรขนาดเล็กยั งเป็นชนวนให้พบเจอกับการคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูงหลายคน แต่เมื่อใดก็ตามที่กระบวนการทุจริตไม่สำเร็จหรือถูกเปิดโปง ทำให้ความคิดที่จะจบชีวิตตัวเองไปพร้อมกับปัญหาและคดีความ กลายเป็นทางเลือกที่หนึ่ง

การมีอาชีพเป็นข้าราชการนั้น มีโอกาสสูงต่อการกระทำทุจริต เนื่องจากข้าราชการบางตำแหน่งมีอำนาจในการสั่งการ ดังนั้นการยืนหยัดต่อความซื่อตรง ซื่อสัตย์ จริงใจ จึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากต่อผู้คนในสายอาชีพนี้ แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ข้าราชการควรยึดถือไว้ในใจก็คือความซื่อสัตย์ เพื่อตัดวงจรอุบาทและไม่ต้องมีจุดจบเช่นนี้