ความหวังเหรียญทองโอลิมปิกที่หายไปจากการถูกแบนของนักยกน้ำหนักไทย
แม้โอลิมปิก 2020 จะถูกเลื่อนไปจัดการแข่งขันในปี 2021 แทน เพื่อหลีกทางให้ไวรัสโคโรน่าที่กำลังแพร่ระบาดสร้างปัญหาไปทั่วโลกอยู่ขณะนี้ แต่กลับไม่มีผลต่อนักยกน้ำหนักทีมชาติไทยที่ติดโทษแบนจากสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติเป็นเวลาถึง 3 ปี หมดสิทธิ์ลุ้นคว้าเหรียญรางวัลในโอลิกปิกเกมครั้งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สืบเนื่องจากการตรวจสอบพบการใช้สารกระตุ้นในนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยถึง 10 ราย เมื่อช่วงต้นปี 2562 โดยในจำนวนนั้นมีชื่อของนักกีฬาระดับเหรียญทองศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกอย่าง ธัญญ่า สุขเจริญ เจ้าของ 3 เหรียญทองรุ่น 45 กิโลกรัมหญิง รวมไปถึงสุกัญญา ศรีสุราช 3 เหรียญทองรุ่น 55 กิโลกรัมหญิง และเหรียญทองโอลิมปิกรุ่น 58 กิโลกรัมหญิง จนทำให้จอมพลังทีมชาติไทยถูกห้ามลงแข่งขันระดับนานาชาติมาตลอดปี 2562 รวมไปถึงศึกยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ล่าสุดทางสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือไอดับเบิลยูเอฟ ได้พิจารณาตรวจสอบหลายขั้นตอนจนนำมาสู่การประกาศบทลงโทษอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2563 โดยสมาคมยกน้ำหนักประเทศไทยถูกพักสมาชิกภาพเป็นเวลา 3 ปี ปรับเงิน 200,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมห้ามนักกีฬาอายุต่ำกว่า 18 ปี ลงแข่งขันระดับนานาชาติเป็นเวลา 6 เดือน และห้ามนักกีฬารุ่นทั่วไปลงแข่งขันระดับนานาชาติ 11 เดือน รวมถึงห้ามเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย
การตรวจสอบดังกล่าวเป็นผลมาจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี ต้องการให้โอลิมปิก 2024 เป็นโอลิมปิกที่ขาวสะอาด จึงกดดันอย่างหนักให้สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้สารกระตุ้นในวงการยกน้ำหนัก ถึงขนาดขู่จะถอดกีฬายกน้ำหนักออกจากปารีสเกมส์ 2024 เลยทีเดียว ทำให้ทางไอดับเบิลยูเอฟต้องนำตัวอย่างปัสสาวะของนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกจาก 2 ครั้งล่าสุดมาตรวจสอบย้อนหลังอีกครั้ง โดยใช้กระบวนการตรวจสอบอย่างเข้มข้นที่เรียกว่า “ไออาร์เอ็มเอส” จนพบนักกีฬาที่ไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้ามเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่นักกีฬาจากประเทศไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายชาติรวมไปถึงประเทศจีนที่เป็นชาติมหาอำนาจนักยกลูกเหล็กอีกด้วย
ภายหลังการตรวจสอบพบสารต้องห้าม แม้สมาคมยกน้ำหนักประเทศไทยพยายามชี้แจ้งว่าเป็นการกระทำโดยพลการของโค้ชชาวจีนคนเก่าที่ให้นักกีฬาทาเจลลดอาการปวดที่มีสารประกอบของอนาบอลิกสเตียรอยด์ ซึ่งทางสมาคมไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย แต่เนื่องจากทางสมาพันธ์ฯ เห็นว่าการทำงานของโค้ชอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสมาคมฯ จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ และนำมาสู่การลงโทษในที่สุด
นับตั้งแต่ เกษราภรณ์ สุตา คว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิก 2000 ที่ซิดนีย์ ซึ่งถือเป็นเหรียญรางวัลแรกของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย หลังจากนั้นจอมพลังทีมชาติไทยก็กลายเป็นขาประจำของโพเดียมโอลิมปิก ด้วยผลงานรวม 5 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 7 เหรียญทองแดง โดยเหรียญทองทั้ง 5 เหรียญมาจาก อุดมพร พลศักดิ์ และปวีณา ทองสุก จากเอเธนส์ 2004, ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล จากปักกิ่ง 2008 รวมไปถึงโสภิตา ธนสาร และสุกัญญา ศรีสุราช จากรีโอเดจาเนโร 2016 ส่งผลให้กีฬายกน้ำหนักเป็นกีฬาที่สร้างเหรียญทองให้กับประเทศไทยมากที่สุด
จากการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมา มีแค่นักกีฬายกน้ำหนัก, มวยสากลสมัครเล่น และเทควันโดเท่านั้น ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ การขาดหายไปของกีฬายกน้ำหนักจึงทำให้แฟนกีฬาชาวไทยเหลือเพียง 2 ชนิดกีฬาความหวังเท่านั้น คงต้องเอาใจช่วยนักกีฬาประเภทอื่นให้ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อเป็นกีฬาประเภทที่ 4 ที่สามารถคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิกให้กับประเทศไทยได้สำเร็จ