“ข้าวกล่องหมื่นกล่อง” บทเรียนของการทำธุรกิจ
จากกรณีข่าวเรื่อง “ข้าวกล่องหมื่นกล่อง” ที่เป็นกระแสซึ่งมีคนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ในหลากหลายแง่มุม ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น เพราะเราก็มักจะเห็นเหตุการณ์คล้ายกันนี้บ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้น่าสนใจตรงที่ มูลค่าความเสียหายนั้นค่อนข้างมาก และเมื่อผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์รู้เรื่องดังกล่าว ก็เกิดการแชร์ต่อ ๆ กัน กลายเป็นข่าวดังในชั่วข้ามคืน โดยภาพที่แชร์ก็จะเป็นภาพสองแม่ลูก และญาติ ๆ ที่เป็นผู้เสียหายนั้น อดตาหลับ ขับตานอน ร่างกายดูอ่อนเพลียจากการผลิตข้าวกล่องกว่า 10,000 กล่อง แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากผู้ว่าจ้าง จึงทำให้คนในสังคมเริ่มตื่นตัว และตระหนักถึงความเสี่ยงของการทำธุรกิจดังกล่าว
ข้าวกล่องเป็นเหตุ : ปมความขัดแย้งระหว่างผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้าง
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นางธนิสร กุยแก้ว อายุ 42 ปี ได้เปิดเผยว่า ตนถูกหลอกให้ทำข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่ม ส่งโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ด้วยการทำสัญญาผูกมัดเป็นเวลา 5 ปี ให้ผลิตข้าวกล่องประเภทข้าวมันไก่ ข้าวผัดกะเพราหมู ลูกชิ้นผัดเผ็ด ทุกวัน วันละ 10,000 กล่อง และน้ำดื่มสี อาทิ เก๊กฮวย โอเลี้ยง กระเจี๊ยบ เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 10,000 ขวด รวมถึงไข่ต้มส่งวันจันทร์-ศุกร์ วันละ 30,000 ฟอง ระหว่างทำสัญญาถูกเรียกเงินล่วงหน้าเพื่อจ่ายค่าสัมปทาน และขวดเปล่าสำหรับใส่น้ำดื่มเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 100,000 บาท ผู้มาติดต่ออ้างว่าหลังผลิตข้าวกล่องและน้ำดื่มแล้ว ทางบริษัทจะจ่ายเงินค่าอาหารและน้ำให้ทุกวัน โดยทำสัญญาแยกส่วนจำนวน 3 สัญญา แยกเป็นผลิตข้าวกล่อง 10,000 กล่อง กล่องละ 35 บาท เป็นเงิน 350,000 บาทต่อวัน ส่งทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ทำน้ำดื่มสี 10,000 ขวดต่อวัน ขวดละ 15 บาท เป็นเงิน 150,000 บาทต่อวัน เฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และไข่ต้มอีก 30,000 ฟอง ใส่ถุงละ 3 ใบ รับซื้อถุงละ 20 บาท โดยไข่ต้มตนยังไม่รับทำส่ง
ผู้เสียหายรายนี้กล่าวว่าได้ทำสัญญาสัมปทานกับบริษัทดังกล่าวไป พร้อมเรียกญาติของตน และชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมลงทุนซื้อข้าวของเครื่องใช้และเครื่องครัวเพื่อผลิตข้าวกล่องและน้ำดื่ม โดยลงทุนไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท หลังจากทำสัญญาเรียบร้อยแล้วและทำการผลิตข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่ม โดยที่ยังไม่ได้ผลิตไข่ต้ม ปรากฏว่าผู้ทำสัญญาอ้างสารพัดอย่างว่าข้าวกล่องที่ทำนั้นไม่ได้มาตรฐาน และยืนยันที่จะไม่รับข้าวกล่องและน้ำดื่มที่ผลิตไว้ ทำให้ข้าวกล่องที่ได้ทำไว้แล้วเกิดเน่าเสีย ขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล
บทเรียนราคาแพงจาก “ข้าวกล่องหมื่นกล่อง” : ความเสี่ยงจากการทำธุรกิจที่ต้องระวัง
จากกรณีดังกล่าวนอกจากจะกลายเป็นกระแส ที่คนในโลกสังคมออนไลน์ให้ความสนใจแล้ว เมื่อวิเคราะห์และพิจารณาจากข่าวดังกล่าว จะเห็นว่า เมื่อเกิดการทำสัญญาระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร และเมื่อเกิดการทำผิดสัญญาไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็ต้องรับผิดชอบในส่วนที่ผิด โดยจะชดเชยค่าเสียหายแบบใดก็ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างกัน ก่อนที่จะมีการทำเป็นบันทึกในสัญญา นอกจากนี้ยังให้บทเรียนอย่างมากกับผู้รับจ้างทำข้าวกล่อง หรือรับจ้างอื่น ๆ จากผู้ว่าจ้าง เราจะต้องระมัดระวังเรื่องการทำสัญญา หรือการเจรจา ทุกอย่างควรเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะง่ายต่อการแสดงหลักฐานเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบ นอกจากนี้ก่อนที่จะรับทำอะไรก็ตามจากผู้ว่าจ้าง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบประวัติ หรือประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ว่าจ้าง ก่อนที่จะรับงานนั้น ๆ เพื่อให้เชื่อถือได้ว่าจะไม่โดนหลอกอย่างกรณีที่เป็นข่าว ฉะนั้นไม่ว่าจะทำธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือไปจนถึงขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องมีความรอบคอบ และระมัดระวังเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาเหมือนในกรณีที่เป็นข่าว